Google เรื่องวุ่นวายกับ Verb ในภาษาอังกฤษ ภาคแรก Verb ที่สำคัญที่สุดของประโยค ~ Likeable English by PokePalm

Sunday, October 12, 2014

 12:36 PM      No comments
ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าเราไม่ได้อคติอะไรในภาษาอังกฤษเลยสักนิด คนอื่นต่างหาก (หราาาาาาาาาาา) แหะ ๆ โยนกันดื้อ ๆ เลยทีเดียว ทุกภาษามีความซับซ้อนในตัวของมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่คนที่เรียนจะรับรู้ได้มากแค่ไหน เราไม่ใช่เจ้าของภาษา หรือต่อให้เป็นเจ้าของภาษาก็ยังไม่จำเป็นต้องรู้ลึก รู้ทุกประเด็น เพียงแต่ถ้าอยากรู้ เราจะนำมาแบ่งให้ท่านฟัง

สิ่งสำคัญที่มีอยู่ในประโยคที่ขาดไม่ได้คือ ประธาน (Subject) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประโยค และภาคแสดง (Predicate) ซึ่งเป็นจุดดำเนินเรื่องราวและมีหลากหลายแบบจริง ๆ นะ เพราะของที่เราใช้ต่อยอดเรื่องราวที่ว่าคือ กริยา (Verb) นั่นเอง
อย่าสับสนกับคำภาษาไทย 2 คำนี้ กริยา (อ่านว่า กริ-ยา หรือ กะ-ริ-ยา, Verb) และ กิริยา (อ่านว่า กิ-ริ-ยา, Manner) เราจะใช้คำว่า Verb ละกัน
Verb คือหัวใจของภาคแสดงเลยล่ะ และผู้เรียนส่วนใหญ่เลือกที่จะแยกภาคแสดงที่ว่านี่ออกเป็น Verb และอื่น ๆ ได้แก่ กรรม (Object) ส่วนเติมเต็ม (Complement) ขอเน้นเข้าไปที่ Verb ละกัน ลองดูตัวอย่างประโยคนี้
It rained today. ประโยคนี้ rained เป็น Verb อันนี้ดูง่าย เพราะมีแค่คำเดียว
It was raining today. ประโยคนี้มี was เป็น Verb และ raining ก็เป็น Verb
It was starting to rain today. ประโยคนี้ was, starting, to rain ต่างก็เป็น Verb ทั้งนั้น
It was starting to rain today because the weather forecast had told us. ประโยคนี้ was, starting, to rain, had told ต่างก็เป็น Verb ทั้งนั้น
It was starting to rain today and I had been planning to go outside. ประโยคนี้ was, starting, to rain, had, been, planning, to go ต่างก็เป็น Verb ทั้งนั้น
แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าตัวไหนเป็น Verb ที่สำคัญที่สุดของประโยคกันแน่ มีเต็มไปหมด
1. It was raining today.
เราเห็นว่าเดิมที rain อยู่ของมันโดดเดี่ยว แต่แล้วก็มี was มาอยู่ข้างหน้า ทำให้ rain เปลี่ยนเป็น raining แปลว่า was ทำหน้าที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจุดเวลาที่จะพูดถึง (Tense) ดังนั้น was คือ Verb ช่วย (Auxiliary Verb) และ raining คือ Verb หลัก (Main Verb) เมื่อเรานำ Verb ช่วยกับ Verb หลักมารวมกัน เราจะได้ว่า was raining เป็น Verb แท้ (Finite Verb)

2. It was starting to rain today.
เราจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ was, starting และ to rain เราได้มาแล้วว่า was คือ Verb ช่วย และ starting คือ Verb หลัก (หรือบอกว่า was starting เป็น Verb แท้ก็ได้) คราวนี้เราได้สมาชิกใหม่นั่นคือ to rain ถ้าเจ้าตัวนี้หายไป โครงสร้างประโยคก็ยังถูกต้องอยู่ดี แต่ถ้ามันอยู่โดดเดี่ยว โครงสร้างประโยคกลับผิดหลักซะงั้น ดังนั้น to rain จึงเรียกว่า Verb ไม่แท้ (Nonfinite Verb)

3. It was starting to rain today because the weather forecast had told us.
เราต้องแบ่งออกเป็น 2 ประโยคย่อย โดยมี because คั่นกลาง ฝั่งซ้ายคือประโยคหลัก เพราะไม่มีคำเชื่อมอยู่ข้างหน้า ฝั่งขวาคืออนุประโยคโดยมี because นำหน้า ฝั่ง was starting to rain ได้อธิบายไปก่อนหน้าแล้ว ส่วนฝั่ง had told ประกอบด้วย had เป็น Verb ช่วย และ told เป็น Verb หลัก ดังนั้นเราได้ Verb แท้คือ had told

4. It was starting to rain today and I had been planning to go outside.
คำเชื่อมคือ and ประโยคที่เห็นคือประโยคความรวม เราจะแบ่งออกเป็น 2 ประโยคหลัก โดยมี and คั่นกลาง ฝั่ง was starting to rain ได้อธิบายไปก่อนหน้าแล้ว ส่วนฝั่ง had been planning to go ประกอบด้วย had เป็น Verb ช่วย แล้ว been ก็เป็น Verb ช่วย และ planning เป็น Verb หลัก ดังนั้นเราได้ Verb แท้คือ had been planning และแน่นอนว่า to go ก็คือ Verb ไม่แท้

หลักการมีอยู่ว่า Verb ที่สำคัญที่สุดของประโยคคือ Verb แท้ที่อยู่ในประโยคหลัก
หมายเหตุ: คำอธิบายส่วนนี้เป็นเพียงข้อมูลเพิ่มเติมเฉย ๆ
- Verb ที่สำคัญที่สุดเรียกว่า Verb แกน (Core Verb)
- Verb แกนเรียกอีกอย่างว่า ส่วนภาคแสดงอย่างง่าย (Simple Predicate)
- ประโยคความซ้อนประกอบด้วย ประโยคหลัก (Main Clause) และอนุประโยค (Subordinate Clause)
- ประโยคความรวมประกอบด้วย ประโยคหลัก มากกว่า 2 ประโยคขึ้นไป ดังนั้น Verb แกนก็จะมีมากกว่า 2 ตัวตามไปด้วย แต่แยกของประโยคใดประโยคมันนะ
- Verb ที่สำคัญที่สุดที่ว่ามีผลต่อโครงสร้างประโยค (Syntax) แต่อาจมีความหมายที่ยังไม่เข้าใจโดยชัดเจนก็ได้ (Semantics)
- ย้ำอีกครั้ง Verb แท้ ประกอบด้วย Verb ช่วย + Verb หลัก

เมื่อได้ความชัดเจนขนาดนี้แล้ว Verb ของ 4 ประโยคได้แก่
1. was raining
2. was starting
3. was starting
4. was starting และ had been planning

บางท่านอาจมีคำถาม
1. ทำไมต้องใช้ Verb แท้ของประโยค ใช้ Verb หลักเท่านั้นไม่ได้หรอ
ตอบ เราใช้ Verb แท้เพราะประโยคในภาษาอังกฤษมีโครงสร้างภายในที่บ่งบอกกาลเวลาด้วยนะ คือ Verb หลักมีการแปรเปลี่ยนไปตาม Tense ต่าง ๆ ลำพังมันตัวเดียวไม่สามารถบอกใจความสำคัญของประโยคได้มากนัก จึงต้องเอาเวลา (Verb ช่วย) มาเป็นส่วนประกอบด้วย

2. Finite Verb อ่านว่า ไฟ-ไนต์ เวิร์บ และ Nonfinite Verb อ่านว่า นอน-ไฟ-ไนต์ เวิร์บ แล้ว Infinite ไม่อ่านว่า อิน-ไฟ-ไนต์ ด้วยล่ะ
ตอบ แม้จะสะกดเหมือนกัน มีรากเหมือนกัน ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านเหมือนกัน สาเหตุจริง ๆ อาจเกินขอบเขตที่เราจะตอบได้ infinite มาจาก infinity (อ่านว่า อิน-ฟิ-นิ-ตี) พอแปลงมาเป็น adj ก็อ่านว่า อิน-ฟิ-นิต ให้เดาคือ พอมีคำนำหน้า in เข้ามา การเน้นพยางค์อาจมีการเปลี่ยนไป สระที่ออกเสียงจึงเปลี่ยนตามไปด้วย

3. Verb ที่สำคัญที่สุดมีผลต่อ Syntax หรือ Semantics อะไรนั่น ไม่เข้าใจอ่ะ
ตอบ สังเกตง่าย ๆ ประโยค It was starting to rain today. ถ้าเอาในแง่โครงสร้าง was starting ก็คือ Verb สำคัญของประโยคละ แต่ยังไม่รู้เลยว่า start อะไร ไม่เข้าใจและอาจรู้สึกแปลกทั้งที่ถูกไวยากรณ์แล้ว พอมี to rain ปุ๊บ อ้อนึกออกเลยว่าที่แท้ประโยคนี้อยากจะบอกถึง rain นี่เอง และคนจะคิดว่า rain เป็น Verb สำคัญของประโยค ทั้งที่จริงคือ was starting เพราะ Verb นี้ไม่สามารถหายไปจากประโยคได้ ลองให้หายสิ It to rain today. แต๊ด ๆ ผิดไวยากรณ์ ดังนั้นท่านอาจต้องระวังเรื่องการวิเคราะห์เชิงโครงสร้าง (Syntactic Analysis) และการวิเคราะห์เชิงความหมาย (Semantic Analysis) ด้วย

4. ดูเหมือนว่าหลักการจะไม่ตรงกับของ Wikipedia
ตอบ ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ งานวิจัย อาทิ การแพทย์ หรือเทคโนโลยี ล้วนแต่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น ภาษาที่ยังมีชีวิตอย่างภาษาอังกฤษยังคงเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยเช่นกัน บางครั้งไม่ว่าหลักการไหนก็ยังคงถูกต้องอยู่ เพียงแต่ขึ้นกับขอบเขตและมุมมองที่แตกต่าง กรณีนี้คือคำเรียก เราใช้นิยามจาก Cambridge เพื่อความง่ายในการอธิบายส่วนประกอบ http://dictionary.cambridge.org/grammar/british-grammar/finite-and-non-finite-verbs ส่วนใน Wikipedia http://en.wikipedia.org/wiki/Finite_verb เราสามารถแกะโครงสร้างได้โดย Verb แรกสุดของประโยคคือ Verb แท้  


อย่างไรก็ตามจะเรียก Verb แท้หรือไม่ Verb ที่สำคัญที่สุดของประโยคคือ Verb ช่วย + Verb หลัก


ในเมื่อทั้ง สำนักยังคงถูกทั้งคู่ เราก็จับรวมกันเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นซะเลย



0 comments:

Post a Comment

Find us on facebook

Powered by Blogger.